ประเด็นร้อน

ธรรมภิบาลท้าทายอย่างไร พุธนี้ต้องไปฟัง

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 12,2017

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต: ธรรมาภิบาลท้าทายอย่างไรพุธนี้ต้องไปฟัง 

- - สำนักข่าว กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 12/06/60 - -
          
ดร.บัณฑิต นิจถาวร bandid.econ@gmail.com
          
ยุคสมัยนี้ธรรมาภิบาล เป็นเรื่องสำคัญ  เป็น เรื่องที่ทุกคนพูดถึง เพราะอยากให้ประเทศ มีธรรมาภิบาลที่ดี ทั้งในภาครัฐและเอกชน ล่าสุดก็นายกรัฐมนตรีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมาภิบาล ภาครัฐ โดยมุ่งไปที่รัฐบาลสมัยหน้า เรื่องนี้ เป็นที่ยอมรับว่า ธรรมาภิบาลภาครัฐ ทั้งในส่วนของผู้ที่เข้ามาในภาคการเมืองและระบบราชการของประเทศเรามีปัญหามาก  เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ไข แต่ที่ผ่านมา ความก้าวหน้าดูจะมีน้อยมาก เปรียบเทียบ กับภาคเอกชนที่ธรรมาภิบาลในภาคธุรกิจดูจะมีการพัฒนาเป็นกอบเป็นกำกว่า มีการขับเคลื่อนและพัฒนาในทางที่ดีต่อเนื่อง
          
ล่าสุดก็จาก  หนึ่ง ข้อมูลสถาบันไอโอดี ที่ประเมินการกำกับดูแลกิจการของบริษัท จดทะเบียน ตั้งแต่ปี 2001 ชี้ว่า การกำกับดูแล กิจการของบริษัทจดทะเบียนไทยมีแนวโน้ม ดีขึ้นตลอด คะแนนประเมินรวมเพิ่มจาก 50 ส่วนร้อย  ปี 2001 เป็น 78 ส่วนร้อย ปีที่แล้ว และเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนอื่นๆ คะแนนของบริษัทจดทะเบียนไทยก็อยู่ในระดับแนวหน้า
          
สอง จำนวนกรรมการบริษัทที่เข้ามาหาความรู้เรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดี มาพัฒนาในหลักสูตรกรรมการของสถาบัน ไอโอดีก็เพิ่มสูงขึ้นมากช่วงสองสามปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะกรรมการจากบริษัทจำกัดทั่วไป ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นชัดเจน แสดงถึงความสนใจของภาคเอกชนและกรรมการบริษัทที่จะขับเคลื่อนธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในภาคธุรกิจและในบริษัทของตน แม้ไม่ได้ถูกกำกับหรืออยู่ในเกณฑ์ของ ก.ล.ต. หรือตลาดหลักทรัพย์เช่นกรณีบริษัทจดทะเบียน จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่แสดงถึงความสนใจและความตั้งใจของภาคธุรกิจที่จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
          
สาม การเข้าร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตของบริษัทเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยบริษัทเหล่านี้เข้าร่วมโดยสมัครใจ ไม่มีการบังคับ เพื่อร่วมผลักดันการทำธุรกิจที่สะอาด โปร่งใส และปลอดการทุจริตคอร์รัปชันให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยบริษัทที่ เข้าร่วมต้องประกาศนโยบาย วางแนวปฏิบัติภายในบริษัทเพื่อต่อต้านการทุจริต และ นำนโยบายและแนวปฏิบัติไปปฏิบัติจริง ล่าสุดมี 838 บริษัทเข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์ กับโครงการCAC โดย 437 บริษัทเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ และ 232 บริษัทได้ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการCAC ว่าเป็นบริษัทที่มีนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตครบถ้วนตามเกณฑ์ ที่คณะกรรมการ CAC กำหนด
          
ทั้งหมดเป็นตัวอย่างของแนวโน้มและโมเมนตัมการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือธรรมาภิบาลที่กำลังเกิดขึ้นในภาคธุรกิจไทย เป็นปรากฎการณ์ที่สอดคล้องกับพัฒนาการในต่างประเทศและแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับสิ่งที่เราเห็นในภาครัฐ ในระดับสากล พูดได้ว่าปัจจุบันเรากำลังเข้าสู่โลกใหม่ของธรรมาภิบาลภาคเอกชนที่บริษัทธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัททั่วไป ต่างตระหนักถึงความสำคัญของการมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ เพื่อการเติบโตของบริษัทที่ต่อเนื่องและยั่งยืน เป็นโมเมนตัมการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในภาคธุรกิจ ที่มาจากการขับเคลื่อนทั้งโดยหน่วยงานกำกับดูแลที่ต้องการรักษาความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจของประเทศ จากนักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่ดี และลดความเสี่ยงในการลงทุน และจากบริษัทธุรกิจเองที่ต้องการให้ธุรกิจของตนเป็น ที่ไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน นี่คือโมเมนตัมการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีที่กำลังเกิดขึ้นในภาคเอกชนในระดับสากล และในภาคธุรกิจของไทย แต่ที่ท้าทายขณะนี้ก็คือภาวะแวดล้อมในการทำธุรกิจในระบบเศรษฐกิจโลกขณะนี้ ที่เต็มไปด้วยความผันผวน ความไม่แน่นอน ความยุ่งยากสลับซับซ้อนและความไม่ชัดเจน เป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวในอัตราที่ต่ำต่อเนื่อง จากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมากในสังคมโลก จากภัยคุกคามของการก่อการร้ายและความไม่แน่นอนทางการเมือง และล่าสุดก็จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดซึ่งเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงต่อธุรกิจ
          
สิ่งเหล่านี้ทำให้ความเสี่ยงในการทำธุรกิจได้เพิ่มมากขึ้น ธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้น และการแข่งขันก็รุนแรงขึ้น ทำให้ทุกบริษัท ต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถทำธุรกิจได้ต่อไป ขณะเดียวกันก็ต้องทำธุรกิจโดยมีธรรมาภิบาล ที่ดีเพื่อรักษาไว้ซึ่งความไว้วางใจของ ผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นความท้าทายให้ ทุกบริษัทต้องปรับตัว บางบริษัทปรับตัวได้ บางบริษัททำไม่ได้  ดังนั้นความท้าทายและหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการบริษัทในฐานะผู้นำ ก็คือต้องช่วยให้แนวทางและช่วยกำกับ ดูแลธุรกิจของบริษัทให้สามารถปรับตัว และก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปให้ได้ ทั้งในเรื่องผลประกอบการ และเรื่อง ธรรมาภิบาล
          
แล้วคณะกรรมการจะก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างไร นี่คือโจทย์สำคัญและเป็นหัวข้อการสัมมนาประจำปีของสถาบันกรรมการบริษัทไทยในวันพุธที่ 14 มิ.ย.นี้ โดยหัวข้อการสัมมนาคือ Steering Governance in a Changing World หรือขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง เน้นเจาะลึกประเด็นธุรกิจธรรมาภิบาลและการปรับตัวโดยผู้ทรงคุณวุฒิระดับโลก ทั้งกูรูด้านธรรมาภิบาล นักวิชาการ ผู้บริหารในภาคเอกชน และกรรมการบริษัท รวมเกือบ 20 คน จาก 12 ประเทศ ถือเป็น งานสัมมนาที่ยิ่งใหญ่ระดับสากล
          
โดยวิทยากรนำในภาคเช้าคือ ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจจะมาให้ความเห็น เรื่องเศรษฐกิจโลก ศาสตราจารย์ เมอร์วิน คิง (Mervyn King) ผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมาภิบาลระดับโลก เจ้าของและประธานคณะกรรมการจัดทำแนวปฏิบัติด้านธรรมาภิบาล King IV Report จะมาพูดในประเด็นความสำคัญของ ธรรมาภิบาลในโลกปัจจุบัน (Why Governance Matters)
          
ดอกเตอร์จอห์น ซัลลิแวน (Dr. John Sullivan) ที่ปรึกษาธนาคารโลก จะพูดถึงความท้าทายของการเติบโตของเศรษฐกิจและธรรมาภิบาลในภูมิภาคเอเชีย และคุณ Tham Sai Choy ประธานบริษัทเคพีเอ็มจี เอเชีย จะมาให้ความเห็นเรื่องบทบาทของคณะกรรมการบริษัทในโลกของความไม่แน่นอน จากนั้นช่วงบ่ายจะมีการให้ความเห็นจากวิทยากรอีก 12 ท่านในสองหัวข้อ คือ ความท้าทายที่กรรมการบริษัทควรรู้ จากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี และ การขับเคลื่อนธรรมาภิบาลในประเทศ ตลาดเกิดใหม่ ปิดท้ายโดยการพบปะสังสรรค์ของผู้เข้าร่วมสัมมนา โดยมีนิตยสารชั้นนำระดับโลก Nikkei Asia Review เป็นเจ้าภาพ
          
งานสัมมนาจะจัดที่ห้องบอลรูม โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ตั้งแต่เวลา 07.00-18.00 น. เข้าใจว่าที่นั่งยังพอมี ผู้ที่สนใจควรติดต่อจองที่นั่งที่สถาบันไอโอดี www.thai-iod.com โทร 02-955-1155 ต่อ 404 , 403, 402 และ Email suthinee@thai-iod.com, natcha@thai-iod.com, sarinee@thai-iod.com  หวังว่าคงจะได้พบกันวันพุธนี้